ปาฏิหาริย์แห่งการงาน “อย่าบริโภคปัญญาอาจารย์แต่เพียงผู้เดียว”
พุทธทาสภิกขุ ในความทรงจำ พระพยอม กัลยาโณ
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพ โดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
“หลวงพ่อพุทธทาสนี่สุดยอด ทำงานแล้ว ถ้าพูดภาษาอาจจะไม่เหมาะกับท่าน แต่ขอใช้คำว่า กัดติด ท่านทำหนังสือเนี่ยเราประทับใจที่สุดเลย เราไปเดินผ่าน กลับไป เดินมา ท่านก็ยังนั่งพิมพ์ก๊อกแก๊กๆ ตีสี่เนี่ยนะเสียงเครื่องพิมพ์ก๊อกแก๊กๆๆ พิมพ์หนังสือตลอด เขียนยอดเยี่ยม บางทีเราทนไม่ไหว วันหนึ่งเข้าไปถามท่านว่า เดี๋ยวนี้เขาก็ไม่ค่อยอ่านสนใจหนังสือธรรมะซักเท่าไหร่ หลวงพ่อทำหามรุ่งหามค่ำไปทำไม ท่านตอบดี ตอนนี้เขายังไม่หิวก็ช่างเขา เราเป็นแม่ครัวปรุงไว้ก่อน เราปรุงเครื่องแกงให้พร้อม ใส่กระทะพร้อม วันไหนเขาหิวขึ้นมา ตักซดพรืดไป อร่อย เขาก็กินต่อไปเอง คำนี้โดนใจมาก...” พระราชธรรมนิเทศ หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในนาม พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว และประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว บอกเล่าความทรงจำเสี้ยวหนึ่งเกี่ยวกับ ‘พุทธทาส’
หากใครเติบโตมาทันยุครุ่งเรืองของเทปคาสเซ็ท คงจะพอรับรู้ถึงความโด่งดังของ พระพยอม กัลยาโณ ในฐานะพระสงฆ์หนุ่มผู้นำธรรมะมาเผยแผ่ในสไตล์ตลกขบขัน ยอดขายเทปธรรมะหลักร้อยล้านบาทย่อมเป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงความสามารถในการพิชิตใจผู้ฟังในวงกว้าง ขณะที่แนวทางการพัฒนาวัดสวนแก้วให้กลายเป็นที่พึ่งพิงในด้านอาชีพ และโอกาส ในรูปแบบของมูลนิธิ ก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดสรรพื้นที่ทางธรรมให้ตอบโจทย์ความเป็นอยู่ในทางโลกโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาส ซึ่งความสำเร็จของวัดสวนแก้วและมูลนิธิวัดสวนแก้วในวันนี้ อาจมีภิกษุนาม ‘พุทธทาส’ เป็นส่วนหนึ่งของเหตุและปัจจัย ดังที่ พระพยอม กัลยาโณ ให้ข้อมูลว่า “ถ้าไม่พบท่านนี่นะ เราว่าน่ากลัวเราจะเป็นต้นแบบงมงาย ที่นำประชาชนงมงาย...” และ “ถ้าท่านไม่พูดคำว่า การทำงานคือการประพฤติธรรม น่ากลัวว่าเราจะไม่จับงานสงเคราะห์พัฒนาเลย...”
จากพระขลัง สู่หลักสูตรนักธรรมเอกพิเศษกับ ‘พุทธทาส’
พระพยอม กัลยาโณ เดิมชื่อ พยอม จั่นเพชร เกิดเมื่อ พ.ศ.2492 ที่ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี การที่ครอบครัวมีฐานะยากจนทำให้ท่านสำเร็จการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดสังวรพิมลไพบูลย์ และหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันขันแข็งมาตั้งแต่เด็กด้วยอาชีพที่หลากหลาย ตั้งแต่รับจ้างขึ้นต้นหมาก ต้นมะพร้าว ทำงานก่อสร้าง จนกระทั่งได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและเก็บเงินซื้อที่ดินให้พ่อได้ 2 แปลง เมื่อถึงอายุครบบวช ท่านจึงตัดสินใจบวชตามประเพณีเมื่อ พ.ศ. 2513 และด้วยเหตุที่เติบโตมาในแวดวงของศาสนาแบบพิธีกรรม เดิมทีท่านจึงมุ่งมั่นไปร่ำเรียนวิชาด้านการปลุกเสกเครื่องรางของขลังของศักดิ์สิทธิ์ แต่แล้ววันหนึ่ง “มีหมอข้างๆ วัด ชื่อหมอขจร หนูนิ่ม มาชวนให้อ่านหนังสือหลวงพ่อพุทธทาส เอ...พออ่านไปนี่มันรู้สึกพระแบบนี้มีเหรอ คำสอนแบบนี้มีเหรอ...ทำไมพระองค์นี้ถึงสอนว่า หลงบุญ เมาบุญ บ้าบุญ มันจะทุกข์มากชนิดหนึ่ง โห สะดุดใจ โดนใจ แทงใจเลย พอหมอเอามาให้อ่าน 3-4 เล่ม ปรากฏว่า หมอชวนว่าไปไหม (ไปสวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) ท่านไปซัก 7 วันก็ได้ ถ้าไม่อยู่ก็ขอไปซัก 7 วัน พอไป 7 วัน เราอยู่ซะเกือบเดือน” เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ย้อนความหลังถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ตัดสินใจเดินทางไปสวนโมกข์ เพื่อพบกับพุทธทาสภิกขุ ซึ่งนำไปสู่การเลิกราจากแวดวงพระขลัง และกลับมามุ่งมั่นเรียนนักธรรมเอกจนจบตามคำแนะนำของท่านพุทธทาส ก่อนจะขอกลับไปจำพรรษาที่สวนโมกข์ ไชยา เป็นเวลาถึง 7 ปี
“ท่านพูดตอนท้ายโดนใจมาก พยอมต่อไปนี้คุณจะต้องมาเรียนนักธรรมเอกพิเศษ เอ๊ะ! เราก็พอจบนักธรรมเอกแล้ว ยังมีนักธรรมเอกพิเศษอีกเหรอ ไม่เคยได้ยินตรงนี้ ตอนนี้ไปโชคดีมาก สมัยนู้นมันมีเครื่องไฟฟ้าปั่น จะดับปิดกี่ทุ่มไม่รู้ เราก็ได้โอกาสเป็นพิเศษ มีพระอื่นไปคุยก่อน ตอนหลังพระผู้ใหญ่รูปก่อนๆ ก็หายไป ออกไปไหนต่อไหนกันบ้าง เราเลยได้เข้าไปคุยกับท่านจนไฟดับเกือบแทบทุกคืน เราสนใจว่าไอ้นักธรรมเอกพิเศษมันคืออะไร โหย...ฟังเรื่องปฏิจจสมุปบาท สุญญตา มันไม่มีในนักธรรมเอก มันมีแต่มันคนละรูปแบบ เช่น การเกิดมันก็เกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ ไอ้เกิดในจิตขณะหนึ่งให้เป็นนั่นเป็นนี่ มีกูเป็นตัวนั้นตัวนี่ ตัวกูเป็นนั่นเป็นนี่ ไอ้อย่างนี้เราไม่เคยสัมผัส พอมาสัมผัสไอ้ชาติการเกิดแบบ ๘๐ ปีตายมันหาประโยชน์ได้น้อย แต่ว่าการควบคุมไม่ให้เกิดตัวกูเป็นนั่นเป็นนี่และไอ้ตายก่อนตาย...พอฟังไปฟังไปมันก็จริง” พระพยอม กัลยาโณ เล่าถึงช่วงเวลาแห่งความใกล้ชิดกับท่านพุทธทาส ก่อนให้ข้อมูลถึงความรู้สึกไม่เห็นด้วยในบางแง่มุมเมื่อครั้งจำพรรษาที่สวนโมกข์ใหม่ๆ ว่า
“ตอนไปทีแรกมีปฏิกริยาต่อต้านท่านอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ท่านสอนว่าการทำงานคือการประพฤติธรรม ไอ้เราตอนนั้นอ่านหนังสือของหลวงปู่มั่น (พระครูวินัยธรมั่น ภูริทัตโต) ด้วย ไอ้เราก็นึกว่ากรรมฐานมันต้องเป็นตัวเอก มานี่การทำงานเป็นการประพฤติธรรมได้ยังไง เอ๊...มันน่าจะไม่ตรงกับที่เรามาซะแล้ว ต่อไป ต่อไป จริงเลย อาตมาตอนนั้นไปยกหินแบกหินเรียงหิน มันก็มีหนัก เหนื่อย ตอนนี้เอาอะไรมาขับเคลื่อนให้เราสำเร็จ มันต้องใช้อิทธิบาทสี่ มันต้องใช้ความอดกลั้นอดทน อะไรเยอะแยะไปหมดในขณะปฏิบัติงาน จะมีตัวกูมาเหนื่อยทำไม มันก็จับอารมณ์ดูไปดูมา อ้าว ใช่เลย การทำงานคือการประพฤติธรรม” พระพยอม อธิบาย
เรื่องเล่าจากโรงมหรสพทางวิญญาณ กับการบริหารจัดการคนแบบพุทธทาส
นอกจากการประพฤติธรรมผ่านการใช้แรงงานในการก่อสร้างถาวรวัตถุในสวนโมกข์ ไชยา โรงมหรสพทางวิญญาณยังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่บ่มเพาะให้ภิกษุหนุ่มฉายา ‘กัลยาโณ’ พัฒนาความสามารถในการบรรยายธรรมะที่สอดแทรกไว้ด้วยความสนุกสนานและฉายแววความเป็นนักเทศน์ที่จะโด่งดังไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา
“ตอนแรกเห็นพระบรรยายอยู่เก่า ช่วงที่ท่านออกไปเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม หรือไปทำอะไรก็แล้วแต่ ว่างอยู่แต่มีคนเข้ามา 5 คน 10 คน เราก็สวมเลย แต่พอท่านกลับมาเราก็ถอยออก เพราะกลัวว่าท่านจะหาว่าเราบรรยายไม่รู้เรื่อง แต่เราคอยลักจำว่าภาพนี้เขาบรรยายว่าไง ภาพนี้บรรยายยังไง แล้วเราผ่านพระบรรยายเรื่องนี้ ๓-๔ รูป เราเลยรวบรวมเทคนิคของแต่ละรูปมา องค์นี้เนื้อหาสาระแน่น แต่ไม่ค่อยมีมุก องค์นี้มุกมากแต่เนื้อหาไม่มีอะไร อย่างนี้ เราก็เลยจับทิศทางได้ พอเราต้องผสมผสานทั้งมุกทั้งสาระ เนื้อหาต้องแน่น ขนาดเกิดเรื่องที่เราปลื้มใจที่สุดก็คือว่า คนไปลงทัวร์ เขาจะทัวร์ไป 3-4 แห่ง ไอ้จุดสวนโมกข์นี่มันเป็นจุดกลาง ยังต้องไปต่ออีก...พอฟังไปฟังมามติของคณะทัวร์ บอกอย่าไปเลยฟังให้จบ ไม่ไปข้างหน้าละ เอาแค่นี้ เพราะติดใจการบรรยาย ช่วงนั้นนะ” พระพยอม กัลยาโณ เล่าถึงช่วงเวลาแห่งการพัฒนาความสามารถในการบรรยายธรรมะจากภาพปริศนาธรรม ณ โรงมหรสพทางวิญญาณ ก่อนให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับหลักการการบริหารจัดการคนในแบบของพุทธทาสภิกขุว่า
“เราชอบใจท่านอยู่อย่าง คือท่านมีเรื่องเซ็น ไอ้เรื่องเซ็นนี่เป็นเรื่องที่เราประหลาด เวลาพระสงฆ์ทะเลาะกันก็มาฟ้องท่าน ว่าพระองค์นี้ไม่ดี พระองค์นั้นไม่ดี ท่านก็ถามว่าพระองค์ที่ว่าไม่ดีมาอยู่นานหรือยัง องค์นั้นก็ว่านาน เหรอ...เอ...แล้วเราทำไมไม่เห็นว่ามีพระแบบนี้ คือ พูดเรื่องไม่มีตัวตน ท่านเที่ยวรู้จักองค์นู้น องค์นี้ เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้เยอะจัง ผมอยู่มาตั้งนานไม่เห็นว่าใครเป็นอะไร (หัวเราะ) แทนที่จะแก้ปัญหาว่าไปเรียกองค์นั้นมาเตือน สอนองค์ที่มาฟ้องหงายเก๋งเลย เช่นว่า พระ ก. พระ พ. เนี่ยไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ เหรอ...ที่วัดนี้มีพระ ก. พระ พ. ด้วยเหรอ แล้วจะมีพระอะไรต่ออะไรมาเยอะไหมเนี่ย ถ้ามีเยอะๆ ตัวตนเยอะๆ ยุ่งตายเลยเนี่ย วุ่นไปหมด ไม่จิตว่าง ท่านบอกไม่จิตว่าง” เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว เล่าถึงหลักการบริหารจัดการคนในแบบพุทธทาสภิกขุ พร้อมรอยยิ้ม
จากสวนโมกข์ถึงวัดสวนแก้ว
ขณะที่ไฟพัฒนาเพื่อการเผยแผ่ธรรมะสไตล์พระพยอมกำลังลุกโชนขึ้นในโรงมหรสพทางวิญญาณ วันหนึ่งท่านพุทธทาสได้เรียกพระพยอมเข้าไปสอบถามถึงบางเรื่องราวที่จะกลายเป็นจุดกำเนิดของวัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี “มีวันหนึ่งท่านเรียกเข้าไป แล้วบอกพยอมคุณไม่คิดจะไปทำอะไรให้บ้านเกิดเมืองนอนบ้างเหรอ คุณคิดไปทำสวนโมกข์ไว้ชานเมืองซักแห่งได้ไหม เผื่อคนกรุงเทพฯ เนี่ยเขาไปไชยามัน 600 กิโล บางคนเข้าไปไม่ไหว ทรัพย์ งบ เวลาไม่พอจะไป คุณลองมาสร้างสวนโมกข์ชานเมืองไว้หน่อยสิ ไอ้ตอนแรกเราสะดุดใจเรื่องเดียว วาสนาอย่างเราหรือจะไปสร้างสวนโมกข์ไว้ชานเมืองในเนื้อที่เป็นร้อยไร่ เดี๋ยวนี้เกือบแตะ ๒๐๐ ไร่ ด้วยความรู้สึกว่าถ้าบุญมี บุญพาวาสนาส่ง ได้รับใช้ครูบาอาจารย์และพระศาสนา ขอให้ได้ที่ดิน...ท่านพุทธทาสเป็นแรงบันดาลใจมาก ตอนนั้นท่านถามว่าจะไปทำได้ไหม ไม่รับปากท่าน เพราะเราไม่คิดว่าบารมีที่จะซื้อที่ดินเมืองนนท์เนี่ย หมดเท่าไหร่รู้ไหม 1700 ล้านบาท คนอย่างเราจบ ป.4 จะหาเงินที่ไหนมาได้ แต่บังเอิญช่วงนั้นเทปมันดัง ขายเทปได้ตั้ง ๒๐๐-๓๐๐ ล้านบาท ก็เลยซื้อที่ได้เยอะ ไม่คิดหรอก เลยตอบท่านไปว่า จะพยายามไปทำ พอออกมาได้ 2-3 ปีท่านก็ดับ เสียดาย ว่าจะเอาความสำเร็จไปอวดท่านซักหน่อย เผอิญท่านก็ดับ” เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ย้อนความหลังถึงจุดกำเนิดของวัดสวนแก้วที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภิกษุนามพุทธทาส
อย่าบริโภคปัญญาอาจารย์แต่เพียงผู้เดียว
แม้วันนี้ภายใต้แมกไม้และบรรยากาศร่มรื่นของวัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี จะยังพบกลิ่นอายของธรรมะที่สืบทอดมาจากท่านอาจารย์พุทธทาสและสวนโมกข์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่เจ้าอาวาสวัดสวนแก้วมีต่อครูบาอาจารย์ แต่ในอีกด้านหนึ่งในฐานะพระสงฆ์นักพัฒนา ผู้สามารถถ่ายทอดธรรมะให้มีลักษณะร่วมสมัย พระพยอม กัลยาโณ ก็ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจต่อการปรับประยุกต์ธรรมะที่ควรใส่ใจต่อการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งกัลยาณมิตรทั้งทางธรรมและทางโลกไม่ควรที่จะละเลย
พระพยอม แสดงความเห็นว่า “ถ้าใครประยุกต์ตรงนี้ไม่ได้ อย่าหวังว่าจะดำรงความเสมอต้นเสมอปลายของอาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ไว้ได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งต้องอย่าบริโภคปัญญาอาจารย์แต่เพียงผู้เดียว เรานี่โชคดีนิดนึง เราได้หลายอาจารย์ ถ้าเราบริโภคปัญญาอาจารย์แต่เพียงผู้เดียว มันจะไม่มีตัวเทียบเคียง แต่ถ้าเราบริโภคปัญญาอาจารย์ซัก ๔-๕ เทียบ มันจะเปรียบเทียบกันอย่างไหนควรจะใช้ยังไงๆ อันนี้สำคัญ การบริโภคปัญญาอาจารย์แต่เพียงผู้เดียวไม่สามารถเปิดใจกว้าง เพราะว่าบางเรื่อง บางอย่าง บางองค์ ไปได้มากกว่าท่านก็ได้ เฉพาะทางนะ ไม่ใช่ว่าท่านจะไปได้ทุกเรื่อง เก่งทุกเรื่อง...
เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวต่อไปว่า “ในการเข้ามาอยู่ในเมือง การปรับปรุงเทคโนโลยี บางทีก็จำเป็นต้องใช้บ้าง...การโปรโมทกิจกรรมทางเว็บ ทางไลน์ ทางอะไร เดี๋ยวนี้อาตมาว่าสุดยอดยุคนี้ เมื่อก่อนนี้เวลาจะจัดกิจกรรมจะวิ่งประชาสัมพันธ์บอกข่าวไปเนี่ยมันเหน็ดเหนื่อย...แต่ถ้าไม่ดีอย่าไปไลน์นะ เอากิจกรรมที่มันเปรี้ยงโดนใจอะ ไม่ใช่พร่ำเพรื่อ อะไรก็จะไลน์ อะไรก็จะไลน์ ไอ้นี่จะทำให้เขาเซ็ง เพราะไลน์แล้วไม่ได้เรื่อง ต้องเลือกเอาที่มันปิ๊ง ที่มันสุดยอด แล้วจะดีขึ้น...
“พยายามเล่นกับคนรุ่นใหม่ไว้ มันต้องชวนคุย อย่าหาพระหรือคนประเภทบรรยายอย่างเดียว อัดเขาข้างเดียว มันต้องทำให้เขามีอารมณ์ร่วม สอบถามไปถามมา ถามแล้วมีรางวัลอะไรกันมั่ง รางวัลนี่สำคัญเหมือนกันนะ นึกถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำยังไงให้ลูกชายไปฟังพระพุทธเจ้าได้ ตอนแรกไม่อยากจะฟัง แต่พออัดรางวัลให้ แต่ต้องให้จำมาแลกนะท่านเทศน์ว่ายังไง ตอนหลังไม่เอารางวัล เพราะซึ้งแล้ว บางทีของพวกนี้ต้องมี ต้องหาไว้บ้าง” เจ้าอาวาสวัดสวนแก้วและประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว ให้คำแนะนำ
บทสนทนาระหว่างฆราวาสแปลกหน้ากับเจ้าอาวาสวัดสวนแก้วจบลง ท่ามกลางการเฝ้ารอของอุบาสก อุบาสิกาที่ปรารถนาถวายสังฆทานตามประเพณี ท่านให้ศีลให้พรอย่างเรียบง่าย ไม่มีพิธีกรรมสูงส่ง...ในวัยเกือบ 70 ปี พระพยอม กัลยาโณ ลุกเดินอย่างคล่องแคล่ว ผ่านร่มไม้อันร่มรื่นเพื่อไปติดตามการดำเนินงานก่อสร้างภายในวัดสวนแก้ว ขณะที่อุบาสก อุบาสิกา จำนวนหนึ่งที่เข้ามาพบท่านเพื่อขอพรเรื่องการงานเนื่องจากไซต์งานก่อสร้างที่เคยทำกำลังหมดสัญญา กำลังจะได้อาศัยพื้นที่ของวัดสวนแก้วเป็นแหล่งงานแห่งใหม่และที่พักพิงชั่วคราว..ฆราวาสแปลกหน้านึกถึงบางประโยคในหนังสือ ‘แก่นพุทธศาสน์ ฉบับสมบูรณ์’ ของ พุทธทาสภิกขุ “การปฏิบัติธรรมสามารถจัดทำพร้อมกันไปได้กับการทำการงาน”...เขาคิดถึงรสแกงที่แม่ครัวจัดเตรียมไว้ให้ ในห้วงยามที่ปาฏิหาริย์แห่งธรรมะคือการงานที่เขากำลังรับผิดชอบอยู่เบื้องหน้า