กว่าจะเป็น ‘คิดถึงสวนโมกข์’ กับ ส.ธโนฆาภรณ์

Share

งานจดหมายเหตุ,

กว่าจะเป็น ‘คิดถึงสวนโมกข์’ กับ ส.ธโนฆาภรณ์

โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพ โดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๑



ความแตกต่างของงานเขียนอย่าง ‘คิดถึงสวนโมกข์’ กับงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับ พุทธทาสภิกขุ และสวนโมกข์เล่มอื่นๆ ก็คือการเปิดเผยให้เห็นอัตบุคคลแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ที่บอกเล่าความจริงเชิงประสบการณ์อย่างซื่อสัตย์ต่อการปรากฏของตนเองและสิ่งอื่นๆ พุทธทาสจากแง่มุมนี้จึงมีชีวิตมากกว่าการหยิบยกตัวอักษรธรรมบรรยายมานำเสนอแบบตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมในสวนโมกข์ที่ปรากฏอยู่ใน ‘คิดถึงสวนโมกข์’ ก็ดูจะพลิ้วไหวและมีลมหายใจมากกว่าการกล่าวถึงคำว่า ‘ธรรมชาติ’ ในความหมายรวมๆ แม้บางครั้งวิทยาศาสตร์อาจดูแคลนความจริงจากประสบการณ์ แต่สำหรับสังคมศาสตร์ประสบการณ์ส่วนบุคคลกลับสามารถทำให้เราเข้าถึงความจริงอีกแง่มุมหนึ่งที่ยอมรับการมีอยู่ของตัวตน โดยเฉพาะความจริงเกี่ยวกับ ‘พุทธทาส’ และ ‘สวนโมกข์’ ที่ถูกเรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์ของ เสาวนีย์ ธโนฆาภรณ์ เจ้าของนามปากกา ส.ธโนฆาภรณ์

จากตะกั่วป่า สู่รั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เป็นคนตะกั่วป่า เกิดเมืองตะกั่วป่า (จังหวัดพังงา) พ่อเป็นคนจีนเป็นชาวอีโป (อีโปะฮ์) รัฐเปรัก (Perak) มาลายา (ปัจจุบันอยู่ในประเทศมาเลเซีย) สาเหตุที่มาอยู่เมืองไทยเป็นเพราะว่า ทางเมืองไทยไม่มีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเหมืองแร่ เขาเชิญผู้เชี่ยวชาญทางรัฐเปรัก หรืออีโป เมืองศูนย์กลางเมืองแร่ มาดูมาแก้ปัญหา เมื่อมาแล้วที่สุดก็ติดสงคราม (สงครามโลกครั้งที่สอง) แล้วแม่ก็ตามมาเยี่ยมกลับไม่ได้ ลูกทุกคนเลยเกิดเมืองไทยหมด มีพี่น้อง ๔ คน ผู้หญิง ๒ ผู้ชาย ๒ พี่เป็นคนที่ ๒ ปัจจุบันอายุ ๗๔ ปี” เสาวนีย์ ธโนฆาภรณ์ บอกเล่าภูมิหลังเกี่ยวกับครอบครัว ก่อนจะกล่าวถึงประวัติการศึกษาต่อไปว่า

20181211 09

“การศึกษาเริ่มแรกจากโรงเรียนเต้าหมิง ตะกั่วป่า เป็นโรงเรียนจีน มีชั้นประถม ๑-๔...เมื่อจบโรงเรียนเต้าหมิงก็สอบเข้าโรงเรียนประจำอำเภอ คือตะกั่วป่าเสนานุกูล โรงเรียนนี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตพี่มากตรงที่ว่า เราอยู่โรงเรียนเต้าหมิงเป็นโรงเรียนที่คนน้อยมาก เราไม่ได้ปรับตัว อยู่อย่างสบายๆ แต่เมื่อเราย้ายมาอยู่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ คนจะเยอะ พี่เป็นนักกีฬา (บาสเก็ตบอล) การเป็นนักกีฬาก็จะเปิดโลกทัศน์อีกแบบหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจอะไรหลายอย่าง เราไปเห็นความจริงของชีวิต...เราตั้งอธิษฐานว่าไม่ขอเล่นกีฬาอีกแล้ว มันไม่ใช่กีฬาเป็นยาวิเศษ มันมีความอิจฉา เลยไม่เอา ได้มาเรียนกรุงเทพฯ มาเรียนมัธยม แล้วก็เอ็นทรานซ์เข้าครุศาสตร์ พอเรียนไปในวิชาของครุศาสตร์ มีแต่ปัญหาทั้งนั้นเลย วิชาปฐมนิเทศเมื่อถึงปีนั้นต้องมีปัญหา แก้ไม่ได้ก็อย่าเรียนเลย ออกมาเอ็นทรานซ์ใหม่ ที่สุดก็ไปเข้าอักษรศาสตร์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เข้าจุฬาฯ ๒๕๐๙ พักอยู่ที่หอพักจุฬาฯ เรียกว่า ชาวซีมะโด่ง ตรงมาบุญครองเดี๋ยวนี้” เจ้าของนามปากกา ส.ธโนฆาภรณ์ อธิบายเส้นทางการศึกษา

การทำงานในบริษัทญี่ปุ่น กับการร่วมจัดทำหนังสือชุด ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสาวนีย์ ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ที่นับถือให้เข้าทำงานในบริษัทเครือยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น และในที่สุดก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น เลขานุการบริหาร (Executive Secretary) โดยระหว่างที่ทำงานในบริษัทแห่งนี้ เสาวนีย์ ยังใช้เวลาว่างในวันเสาร์ – อาทิตย์ มาช่วย ธีระ วงศ์โพธิ์พระ เจ้าของนามปากกา ธีรทาส ณ พุทธสมาคมเป้าเก็งเต๊ง บ่อนไก่ กรุงเทพฯ จัดทำหนังสือชุด ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น และศิษย์เต๋า-เซียน-เซ็น ออกเผยแพร่เป็นธรรมทาน “รู้จักอาจารย์ธีรทาสมาตั้งแต่ทำงานใหม่ๆ ช่วยมาตลอด ศิษย์โง่ดีเพราะพี่ทำสำนวน เพราะว่าพี่ทำงานสบายมาก เมื่อเวลาว่าง อะไรก็ได้ขอให้ช่วยเหลือคน ช่วยอาจารย์เสาร์-อาทิตย์ จ่าหน้าซอง ตรวจปรู๊ฟ ออกหนังสือ” เสาวนีย์ เล่าถึงการทำงานหนังสือชุด ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น และศิษย์เต๋า-เซียน-เซ็น

20181222 01

‘สวนโมกข์’ ที่ไม่ได้เขียน

แม้เส้นทางการทำงานในบริษัทญี่ปุ่นดูจะมั่นคงขึ้นตามลำดับ แต่อีกด้านหนึ่ง เสาวนีย์ กลับรู้สึกได้ถึงความเป็นอนิจจังของชีวิต “ปี ๒๕๒๑ เมษายน บริษัทจัด summer trip ไปพัทยา ไปพักโรงแรมเอเชียพัทยา เขาจัดรถบัสไป ๓ คัน มีรายการตั้งแต่ขึ้นรถร้องเพลงทุกอย่าง ปรากฏว่าในห้องโถงใหญ่ ตามที่เขียนในหนังสือคิดถึงสวนโมกข์ ภาวะที่พี่เห็นผู้หญิงคนหนึ่งผู้ชายคนหนึ่ง เขาเต้นรำเหมือนเป็นมนุษย์ภพเทวา เราก็ตกใจคิดว่านี่เราทำบุญเยอะเหลือเกิน แล้วถ้าบุญเราหมด chairman (ประธานบริษัท) ตาย แล้วเราไม่ตกกระป๋องเหรอ เริ่มน้ำตาคลอ คืนนั้นนอนไม่หลับ อยู่ไม่ได้แล้ว มันสะดวกทุกอย่าง สบายทุกอย่าง แล้วที่สุดพี่ตกกระป๋องแน่ คิดถึงสวนโมกข์ทันที ควรจะไปสวนโมกข์คนเดียว อยู่ดูตัวเอง อยู่กับธรรมชาติ ที่คิดได้อย่างนี้เป็นเพราะว่า ในวิชาอักษรศาสตร์ เขามีวรรณกรรมระดับสากลเยอะแยะ แรงบันดาลใจก็คือ Henry David Thoreau (นักคิด นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของผลงาน Walden และ Civil Disobedience)

20181211 02

“มาปรึกษาอาจารย์ (ธีระ วงศ์โพธิ์พระ) อาจารย์ตกใจมากจะไปคนเดียวได้อย่างไร ไม่รู้จักใคร ขอยืนยันไม่ใช่มีปัญหา ขอไป เพราะว่าพี่มีความพร้อมในด้านจิตใจ เมื่อพี่ไปอยู่คนเดียวจริงๆ แล้วคงจะได้อะไร ที่สุดไปซื้อตั๋วที่หัวลำโพง บอกเขาว่าจะไปสวนโมกข์คนเดียว คุณช่วยจัดเวลาให้ด้วย เพราะเราไม่รู้จัก เราไม่เคยนั่งรถไฟ” เสาวนีย์ เล่าถึงการตัดสินใจเดินทางไปสวนโมกข์ครั้งแรกเพียงลำพัง ก่อนสะท้อนความทรงจำเมื่อแรกถึงสวนโมกข์อย่างตรงไปตรงมาว่า

“เราได้พบท่านอาจารย์พุทธทาสวันนั้นเลย นั่งอยู่ตามที่บรรยาย (ในหนังสือคิดถึงสวนโมกข์) ก็เอาจดหมายกับทุเรียนของอาจารย์ (ธีรทาส) ไปให้ เพราะเราไปคนเดียว เขาเขียนอะไรไม่รู้ล่ะ เราไม่สนใจอยู่แล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสถามพี่ว่า จะพักเดี่ยวหรือพักรวม พี่บอกว่าในเมื่อพี่ต้องการมาศึกษาพี่ขอพักรวม คุณรู้ไหมเวลาพักรวมโดนไล่ที่ทุกวันเลย ที่พักเหมือนกับค่ายทหาร ซ้ายขวาโดนไล่ทุกวัน แล้วเห็นกิเลสทุกอย่าง แต่เขียนไม่ได้ แต่จดไว้หมดแล้ว ทุกคืน ทุกอย่าง กิเลสคนไปวัด เห็นชัดที่สุดแต่ไม่เขียน ที่เขียนนั้นเขียนแต่ดีๆ” เจ้าของนามปากกา ส.ธโนฆาภรณ์ ให้ข้อมูล

‘สวนโมกข์’ กับการเดินทางด้านใน

20181222 05

ขณะที่ใครหลายคนตัดสินใจไปสวนโมกข์ ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อกิจกรรมธรรมะแบบรวมกลุ่ม แต่สำหรับ เสาวนีย์ กลับเลือกวิธีที่จะแสวงหาสัจธรรมจากด้านใน “เมื่อเรานั่งอยู่ในป่าคนเดียวที่มันมีความปลอดภัย ภาวะจิตที่เรานั่งคนเดียว พอจิตเรานิ่ง มันไม่เอียงซ้าย มันไม่เอียงขวา ไอ้ตรงนั้นที่ภาษาเต๋าหรือเซ็นเขาเรียกว่า Ordinary Mind จิตที่มันเป็นปกติมันไม่แกว่งซ้าย แกว่งขวา พอเวลานั้นไปสักพักหนึ่ง เราจะเข้าใจ ปัญญาในตัวเราจะออกมา โดยที่ว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนั้นเหรอ ความเป็นธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เราจำอารมณ์ได้จนบัดนี้ ผ่านมา ๔๐ ปีแล้วนะ...ต้องขอบอกว่า บุญคุณของท่านอาจารย์ (พุทธทาส) ที่แผ่บารมี ให้ความปลอดภัย...แล้วก็ความเป็นสวนโมกข์ บรรยากาศต้นไม้ ความสมบูรณ์ของขนาดต้นไม้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในสวนโมกข์มันเอื้อให้จิตพี่ได้พักผ่อน” เจ้าของนามปากกา ส.ธโนฆาภรณ์ อธิบาย

การตัดสินใจครั้งสำคัญ อีกครั้งกับ ‘สวนโมกข์’

แม้การไปเยือนสวนโมกข์ครั้งแรกจะไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่ออุทิศเวลาให้กับการทำงานหนังสือชุด ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น และศิษย์เต๋า-เซียน-เซ็น อย่างเต็มที่ แต่การตัดสินใจพลิกผันชีวิตครั้งสำคัญของ เสาวนีย์ ก็มี ‘สวนโมกข์’ เป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำ

20181222 06

พุทธทาสภิกขุในพุทธสมาคมเป้าเก็งเต๊ง

เสาวนีย์ เล่าว่า “ตัดสินใจออกแน่ เมื่อออกแน่จะทำยังไงมันต้องอาลัยอาวรณ์ หนึ่งเงินเดือน สองยังไม่แก่ เอาอย่างนี้ละกัน สวนโมกข์อีกแล้ว ไปอีกครั้งหนึ่ง ๗ วัน ตอนอายุ ๔๘ ระหว่างที่พี่ไป พี่ไปกวาดขยะ ร้อนมาก พี่กวาดตรงทางเดินหินโค้ง พอกวาดไปซักระยะหนึ่งพี่มีความรู้สึกว่า ภาวะจิตมันนิ่งสงบ ไม่เหมือนพี่อยู่ห้องแอร์แปลเอกสารยิ่งกว่านรก คือเราต้องสู้กับเวลา เอกสารที่มามีทุกรูปแบบ มันคือนรก นี่คือสวรรค์ กลับมาก็ส่งใบลา เราไม่สนละ เราไม่แยแส เริ่มเคลียร์ของ บางคนพอวันสุดท้าย เขารู้ข่าวร้องไห้ใหญ่เลย คือเขาตกอกตกใจ ไม่สนใจเรามีเป้าหมายคือหนังสือ...ไม่กลับบ้าน เพื่อตัดอารมณ์ไม่ให้คนมาถาม อะไรสี่สิบกว่าออกแล้วเหรอ ยังเป็นหัวหน้าอยู่ ทุกอย่างเพอร์เฟกต์หมด เขาให้เงินเดือนย้อนหลังให้สองเดือน พี่บอกอาจารย์ (ธีระ วงศ์โพธิ์พระ) ให้ป๊า เขาสวดมนต์อยู่ตรงนี้ (ชี้ไปที่แท่นหน้าพระประธานในวิหารพุทธสมาคมเป้าเก็งเต๊ง) เขาบอกถ้าเธอให้ฉันเธอต้องไม่คิดนะ โยนถังบริจาคไม่รู้เท่าไหร่ จิตกับเงินเราไม่เกี่ยว” และนั่นคือที่มาของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในพุทธสมาคมเป้าเก็งเต๊ง ในฐานะผู้ร่วมผลิตผลงานหนังสือชุด ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น และศิษย์เต๋า-เซียน-เซ็น กับ ธีระ วงศ์โพธิ์พระ มาตลอดหลายสิบปี

20181222 08

กว่าจะเป็น ‘คิดถึงสวนโมกข์’

หากใครได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ‘คิดถึงสวนโมกข์’ ของ ส.ธโนฆาภรณ์ (พิมพ์ถวายเป็นอาจาริยบูชาวันพุทธทาส พ.ศ. ๒๕๕๖) คงจะพอทราบว่า นอกจากบทสนทนาภายในระหว่างผู้เขียนและสิ่งต่างๆ ภายในพื้นที่สวนโมกข์ซึ่งได้รับการถ่ายทอดผ่านตัวอักษรแล้ว ในงานเขียนเล่มนี้ยังบรรจุไว้ด้วยข้อมูลในช่วงท้ายๆ ของชีวิต อีกทั้งบรรยากาศในพิธีกรรมการจัดการกับศพของท่านพุทธทาสซึ่งเป็นการบันทึกผ่านสายตาและความทรงจำของอัตบุคคลคนหนึ่ง แม้จะไม่ละเอียดถี่ถ้วนอย่างบันทึกของนักประวัติศาสตร์ แต่หลายๆ แง่มุมก็เป็นสิ่งที่ผู้สนใจใน ‘พุทธทาส’ และ ‘สวนโมกข์’ ไม่อาจละเลย ซึ่งเจ้าของนามปากกา ส.ธโนฆาภรณ์ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ว่า

20181211 04

“ตอนนั้นบันทึกในสมุดหายไปตั้งหลายปี จะเขียนแล้ว ก็เข้าสมาธิว่าปีนั้นเรามีอะไร พอพิมพ์เสร็จแล้วถึงจะเจอ หายไปตั้งหลายปี นั่งสมาธิว่าพี่ควรจะเขียนอะไรลงไป อารมณ์ตรงนั้นเป็นอย่างไรๆ มันจำได้ เขียนในสมาธิ แล้วไม่ใช่นักเขียนเด็ดขาด นักเขียนเขาจะเกิดจินตนาการ แต่อันนี้เราบรรยายของจริง อยู่ในสมาธิทุกบท...สิ่งที่เราเรียนมาทั้งหมด อย่างดอกพิกุล พี่เคยเรียนวรรณคดีเรื่องพระเวสสันดร อาจารย์เขาจะพาดพิงว่า ดอกพิกุลไม่ทิ้งกลิ่น เราดึงออกมา (หนังสือคิดถึงสวนโมกข์ บทที่ ๓๐ จันทร์กระจ่างฟ้า) หรือโสกราตีส เราก็ไปค้นใหม่ พี่ก็ซื้อหนังสือโสกราตีส กว่าจะรู้แล้วก็ค่อยมาเรียบเรียงใหม่ (หนังสือคิดถึงสวนโมกข์ บทที่ ๖ โรงมหรสพทางวิญญาณ) ลำบากมากนะ ลำบากทีเดียวล่ะ เห็นง่ายๆ อย่างนี้ทำการบ้านเยอะมาก

“ทุกอย่างที่พี่เขียนเอามาใส่ตรงนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชีวิต ว่าคนคนหนึ่งกว่าเขาจะมาอย่างนี้เขาผ่านอะไรมาบ้าง ใส่เข้าไปเพื่อรำลึกถึงบุญคุณสวนโมกข์ แล้วไม่ลืมบุญคุณของท่านอาจารย์พุทธทาส แค่นี้ มีสองอย่างมันโยงกัน ท่านอาจารย์พุทธทาสกับความเป็นสวนโมกข์เหมือนกัน” เสาวนีย์ ธโนฆาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

20181222 07

บทสนทนากับ ส.ธโนฆาภรณ์ ภายในวิหารพุทธสมาคมเป้าเก็งเต็งจบลง ชายแปลกหน้านึกถึงบางประโยคในหนังสือคิดถึงสวนโมกข์ บทที่ว่าด้วยก้อนหินแสดงธรรม “...ก้อนหินมีหน้าที่รับใช้คน ให้อิสระแก่คนเลือกจะนั่ง...หน้าที่ของก้อนหินอยู่ที่ความพอดี มันไม่รู้ว่ามันกำลังรับใช้ใครอยู่ มันทำหน้าที่เป็นเพียงม้านั่งอย่างเดียว...” บางทีชายแปลกหน้าก็รู้สึกว่าตนเองเป็นเพียงก้อนหินที่ถูกกระแสอะไรบางอย่างพัดพามาให้หยุดลงที่ตรงนี้ เพื่อทำหน้าที่รับใช้ใครสักคน แล้วเฝ้ารอว่ากระแสคลื่นหรือลมระลอกใหม่จะพัดพามันไปหยุดลงตรงที่ใดสักแห่ง แล้วสงบนิ่งเป็นเพียงแค่ก้อนหินก้อนหนึ่ง