พุทธทาสภิกขุกับสหายมหายาน : ในความทรงจำของ ธีรทาส
โครงการจัดทำประวัติศาสตร์บอกเล่า กลุ่มงานจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
บทความและภาพ โดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย
สัมภาษณ์ 9 ตุลาคม 2561
เมื่อถามถึงความประทับใจที่สหายมหายานมีต่อพุทธทาสภิกขุ ธีรทาส ได้กล่าวอย่างสั้นๆ แต่ชัดเจนในความทรงจำว่า “พระไทยที่มีความรู้เรื่องมหายาน เรื่องเซ็น ดีที่สุด คือองค์นี้”
หนึ่งอุบาสกจากสำนักเส้าหลินใต้
ต้องลี้ภัยทางการเมืองในยุคสมัยของเฉียนหลงฮ่องเต้มาพร้อมกับคัมภีร์พุทธศาสนานิกาย
ฌาน หรือ เซ็น โดยใช้เวลาหลบซ่อนตัวอยู่หลายสิบปีด้วยอาชีพซินแส
พะแมะหมอจีน รักษาโรคให้กับคนเจ็บป่วยบนผืนแผ่นดินสยาม
ก่อนจะถ่ายทอดเนื้อหาในคัมภีร์นั้นให้แก่ทายาท ด้วยหวังว่าวันหนึ่ง
เมื่อมีโอกาส พุทธธรรมแบบเซ็นจะได้รับการเผยแผ่ออกไปไม่ขาดตอน
นี่มิใช่นวนิยายกำลังภายในที่แต่งขึ้นเพื่อความสนุกสนาน หากแต่เป็นเรื่องราวของ ‘เล่ากิมเช็ง’ ผู้เป็นบิดาของ ธีระ วงศ์โพธิ์พระ หรือเจ้าของนามปากกา ธีรทาส ผู้ตรวจสอบและจัดพิมพ์ หนังสือชุด ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น และศิษย์เต๋า-เซียน-เซ็น ออกแจกจ่ายเป็นธรรมทานมาตั้งแต่อายุ 34 ปี โดยอาศัยพื้นที่ของ พุทธสมาคมเป้าเก็งเต๊ง บ่อนไก่ กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ทำงานร่วมกับ เสาวนีย์ ธโนฆาภรณ์
นอกจากเรื่องเล่าอันน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับการเดินทางของศิษย์สำนักเส้าหลินใต้สู่ดินแดนสยาม เจ้าของนามปากกา ธีรทาส ยังเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยสัมผัสและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ พุทธทาสภิกขุ ผู้ได้รับการขนานนามว่า ‘นาคารชุนแห่งเถรวาท’ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ โครงการประวัติศาสตร์บอกเล่าบุคคลที่เคยสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จำต้องโคจรมาพบกับหนึ่งในสหายมหายานเพื่อบันทึกความทรงจำในวัย 90 ปี
กำเนิดคัมภีร์ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
ธีระ วงศ์โพธิ์พระ บอกเล่าถึงความเป็นมาของ กิมเช็ง แซ่เล้า ผู้เป็นบิดาให้พอเข้าใจในความเป็นมาของตนเอง และความสำคัญของหนังสือชุด ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น ว่า “เตี่ยเก่งยาจีนพะแมะ สูตรวิชาเส้าหลิน อายุ 15 ไปอยู่เส้าหลิน อายุ 20 ก็เป็นครูดังแล้ว เป็นครูคนแรกเลย ใครจะเข้าที่นี่ (เส้าหลินใต้) ต้องผ่านแกก่อน ศิษย์โง่ (ไปเรียนเซ็น) แกเขียน เป็นวิธีเรียน วิธีพูด ต้องให้รู้ ๓ อย่างก่อน โลภะ โทสะ โมหะ สามอย่าง ต่อไปรู้ขันธ์ 5 ห้าอย่าง ต่อไปถึงโพชฌงค์ 7 ไม่งั้นจะสับสน ต้องให้รู้ให้แตก เหมือนกับเด็กเรียน ก.ไก่ เข้าเรียนใหม่ๆ ต้องรู้ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก ก่อน บวกลบคูณหารอย่าเพิ่งพูด ต้องรู้อันนี้ต่อไปมันไม่สับสน”
ส่วนสาเหตุที่ซินแสเล่ากิมเช็ง
ต้องหลบลี้หนีภัยจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอาศัยบนแผ่นดินสยาม
สืบเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองในสมัยฮ่องเต้เฉียนหลง
แห่งราชวงศ์ชิงหรือเช็ง “เขาจะปราบพวก หวงเช็งฮกหมิง (ต้านชิงกู้หมิง)
เกี่ยวกับการเมืองเมืองจีน เส้าหลินแม้จะเป็นกลางทางศาสนา
แต่เขาอิงไปทางเก่า จึงเกิดการปราบ แผนทางนู้น (สำนักเส้าหลินใต้)
มองการณ์ไกล คัดครูสำคัญส่งไม่ให้สูญพันธุ์ให้ออกโพ้นทะเลไป พม่า เวียดนาม
ไทย ปลอดภัย เตี่ยฉันมาชุดนั้น อยู่เมืองจีนแกได้รับรายงานภาคเอเชีย
เมืองไทยหมด ใครอยู่ที่ไหนยังไง แกเป็นคนอ่านรายงาน ก็รู้เรื่องนี้ดี
มาปุ๊บรู้เลย มึงอยู่จังหวัดไหน ยังไง”
ซึ่งหนึ่งในรายชื่อของศิษย์รุ่นพี่คนสำคัญที่อพยพเข้ามายังแผ่นดินสยามก่อนหน้า
ก็คือ ‘เซียนแปะโค้ว’ แห่งหัวตะเข้ ที่ดับสังขารไปในอิริยาบถนั่งสมาธิ
จนเป็นที่โจษจันกันทั่วไปในฐานะหนึ่งในตำนานผู้วิเศษ
“สำหรับฉัน แกให้ถ่ายทอดอธิบายสรุป แล้วก็แปล มีคนช่วยหลายคน อย่างพระมหาเอี่ยมมหารุ่นเก่า ความรู้ดีคนท่าม่วง (จังหวัดกาญจนบุรี) รู้จักพวกนั่งไม่เน่าเยอะเชียว” ธีรทาส เล่าถึงความรับผิดชอบต่อคัมภีร์ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
ลูกศิษย์ของหมอตันม่อเซี้ยง
สำหรับผู้ที่สนใจในผลงานแปลของท่านพุทธทาสอย่าง ‘คำสอนของฮวงโป’ คงจะพอทราบว่า ท่านพุทธทาสจำต้องอาศัยความร่วมมือในการตรวจสอบเทียบเคียงกับต้นฉบับภาษาจีนเพื่อรักษาความถูกต้องของเนื้อหา โดยหนึ่งในบุคคลที่เข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเทียบเคียงระหว่างภาษาอังกฤษ ภาษาจีน สู่คำแปลในภาษาไทยได้แก่ ‘หมอตันม่อเซี้ยง’ ซึ่งถือเป็นปราชญ์สายมหายานคนสำคัญในยุคนั้น และเป็นอาจารย์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในพระสูตรมหายาน คัมภีร์นิกายเซ็น ให้แก่ เสถียร โพธินันทะ และ ธีระ วงศ์โพธิ์พระ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ชักนำให้ทั้งสองท่านมีโอกาสพบ พุทธทาสภิกขุ เป็นครั้งแรก โดยธีรทาส ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของ หมอตันม่อเซี้ยง ว่า
“มีอาชีพพะแมะหมอจีน เมื่อก่อนทำงานโรงพยาบาลเทียนฟ้า เป็นหมอรักษาโรค...เป็นอาจารย์ฝ่ายมหายานออกเสียงตามสายเรื่องทั่วไป แต่มาบรรยายสูตรเว่ยหล่างที่นี่ เป้าเก็งเต๊ง บรรยายสูตรเว่ยหล่างเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แล้วเขาก็เอาไปออกเสียงตามสาย แล้วบรรยายวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร หรือกิมกังเกง ที่นี่ เจ้าคุณพุทธทาสเคยมาสองครั้ง ท่านพักวัดปทุมคงคา หมอตันม่อเซี้ยง พาฉันกับ เสถียร (โพธินันทะ) ไปรู้จักท่านครั้งแรก ฉันอายุเข้าใจว่า 19 หรือ 20 แถวเนี่ย หมอตันม่อเซี้ยงพาไป พอเอ่ยชื่อฉันบอกลูกซินแสกิมเช็ง เจ้าคุณรู้จัก เจ้าคุณบอกดีแล้วฉันคอยมานานแล้ว ดีแล้วเสถียร โพธินันทะ มา ดี ทั้งคู่ฉันคอยมานานแล้ว” ธีรทาส ย้อนความทรงจำเมื่อแรกพบพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเขาเรียกขานว่า เจ้าคุณ
พุทธทาสภิกขุกับสหายมหายาน
ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพบกันระหว่าง พุทธทาสภิกขุ กับหมอตันม่อเซี้ยง, เสถียร โพธินันทะ และ ธีระ วงศ์โพธิ์พระ อยู่ที่พุทธทาสภิกขุรับรู้ว่าผู้ที่กำลังจะมาพบและสนทนากับท่านนั้นเป็นใคร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและความเปิดกว้างในการแสวงหาสหายทางปัญญาที่จะมาช่วยเหลืองานต่างๆ ให้สมบูรณ์ เช่น ในกรณีที่พุทธทาสภิกขุรู้จักซินแสเล่ากิมเช็ง บิดาของธีรทาสเป็นอย่างดี “รู้จากคนจีนรุ่นก่อนๆ รุ่นมีความรู้ดีๆ ไปคุยกับท่านมาก ท่านก็ถาม คนที่มาอยู่เมืองไทยที่เก่งๆ มีกี่คน รู้หมด รู้ก่อนรู้จักลูกอีก” ธีระ ให้ข้อมูลเคล้าเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
ขณะที่ความสนใจในปรัชญาและพุทธศาสนามหายาน โดยเฉพาะนิกายเซ็น ธีรทาส
ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นเพราะพุทธทาสภิกขุได้อ่านหนังสือเหล่านี้มามาก
“อาจารย์กรุณา กุศลาสัย เป็นคนส่งคัมภีร์เซ็นเก่าๆ ขงจื๊อ เหล่าจื๊อ
มาให้อ่านเป็นพื้น แล้วคนนู้นพูด คนนี้พูด รุ่นเก่า แกก็ถาม
รู้จักภูมิปัญญาเตี่ยฉันดีกว่าลูกชายรู้จักอีก”
ในเรื่องของความคิดเห็นระหว่างพุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นภิกษุในพุทธศาสนาเถรวาท กับอีกสามอุบาสกมหายาน ธีรทาส มีความเห็นว่า “เบื้องสูงไม่ต่าง เป้าหมายเดียวกัน สนับสนุนโพธิสัตวธรรม เพราะว่ามันกว้าง โพธิสัตว์ไปจนจบเกมเป็นพระพุทธเจ้า
เขาสอนแบบนี้ เธอมุ่งพุทธภูมิเธอก็ต้องจบอยู่ดีวันหนึ่ง
เกิดทุกชาติสร้างบารมีทุกชาติขาดทุนเหรอ ไม่ขาดทุน มีแต่กำไร
อันนี้เจ้าคุณพอใจที่ฉันพูด เตี่ยฉันสอน ตันม่อเซี้ยงก็สอน เสถียร
(โพธินันทะ) ก็สอน เกิดทุกชาติสร้างบารมีทุกชาติ ขาดทุนเหรอ
อรหัตตภูมิมีจริง แล้วคุณได้หรือยัง มุ่งไว้ก่อน
วันหนึ่งข้างหน้าจบของมันเอง ไม่ต้องไปคิดว่ากี่ชาติ
เกิดทุกชาติสร้างบารมีทุกชาติ ขาดทุนเหรอ ไม่ขาดทุน”
เมื่อถามถึงความประทับใจที่สหายมหายานมีต่อพุทธทาสภิกขุ ธีรทาส
ได้กล่าวอย่างสั้นๆ แต่ชัดเจนในความทรงจำว่า
“พระไทยที่มีความรู้เรื่องมหายาน เรื่องเซ็น ดีที่สุด คือองค์นี้”
แม้จะมีความแตกต่างในการดำเนินชีวิตและรายละเอียดในความเชื่อ
แต่ท้ายที่สุดกว่า 50 ปี กับปริมาณหนังสือที่มีน้ำหนักรวมกว่า 70 ตัน
ที่จัดพิมพ์และแจกจ่ายเป็นธรรมทาน ภายใต้ร่มเงาของพุทธสมาคมเป้าเก็งเต๊ง
ก็สะท้อนให้เห็นถึงความแนบสนิทของศรัทธาระหว่างภิกษุเถรวาท
และอุบาสกมหายานที่ “เบื้องสูงไม่ต่าง เป้าหมายเดียวกัน”