รายการ เด็กสวน(โมกข์) ตอนที่ ๑๒ สุขสะนำ สวนธรรมในใจ​​​

Share

เด็กสวน(โมกข์), ประวัติศาสตร์บอกเล่า,

สรุปประเด็นและร้อยเรียง การสนทนา Clubhouse สวนโมกข์กรุงเทพ

รายการ เด็กสวน(โมกข์) ตอนที่ ๑๒ สุขสะนำ สวนธรรมในใจ​​​

ประสบการณ์ของคนธรรมดา ที่เรียนรู้ธรรมะผ่านชีวิต

ทั้งการมาเป็นชาวสวนโมกข์ จนถึงเป็นชาวไร่

วันอังคารที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๕

เวลา : ๑๙.๐๐ - ๒๐.๐๐ น.​

Moderator: นายเวลา และ นพ.บัญชา พงษ์พานิช

แขกรับเชิญ: โจ้ พุฒิพัฒน์ อุนสวัสดิ์อาภา


ชีวิตที่สุดโต่ง

  •        เคยสุดโต่งกับชีวิตมาก่อน ตั้งแต่สมัยเรียน เป็นคนสนใจการทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นช่วงเดียวกับเหตุการณ์คุณสืบ นาคะเสถียรยิงตัวตาย ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว เกิดความสนใจในวงกว้าง และยังทำกิจกรรมอีกหลายอย่าง เช่น เข้าค่ายกับมูลนิธิโกมลคีมทอง
  •        ในขณะเดียวกัน มีความใกล้ชิดพุทธศาสนา ไปวัดกับคุณย่าเป็นประจำ มีความสนใจใคร่รู้ ไปศึกษามาหลายสำนัก ได้อ่านหนังสือ ‘คู่มือมนุษย์’ ของท่านพุทธทาส ได้รู้ว่าที่จริงแล้วพระพุทธเจ้าสอนอะไร เป็นการค่อย ๆ แง้มประตูรู้จักพุทธศาสนา เกิดความสนใจในการบวช คิดอยู่ในใจตลอด แต่ยังไม่มีโอกาส

  • 274948470 716071176064114 5210407527476187939 n
  •        กระทั่งแต่งงาน ช่วงอายุ ๒๕ – ๒๘ ปี ชีวิตมุ่งแต่การทำงานหาเงิน ให้ภรรยาเลี้ยงลูก แบ่งหน้าที่กันชัดเจน ทำงานหนัก ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว เดินทางตลอด โทรศัพท์ตลอดเวลา จำได้ว่าไม่เคยนั่งกินข้าวได้หมดจานสักครั้ง ชีวิตเสียสมดุลมาก เคยอดนอนติดต่อกันนานที่สุดถึง ๕ วัน ภูมิร่างกายต่ำ อีสุกอีใสแสดงอาการออกมาทุกอณูร่างกาย
  •        ทางด้านจิตใจ การทำงานมีแต่ความกังวล สับสน แต่สิ่งที่กระทบมากที่สุดคือ ลูกไม่ยอมให้เข้าใกล้ ไม่ให้อุ้ม เหมือนเราเป็นคนแปลกหน้า ชีวิตเป็นทุกข์หนัก จนกระทั่งภรรยาหอบลูกกลับไปอยู่กับครอบครัว เป็นการแตะเบรคชีวิตเรา ให้มาฉุกคิดว่า ชีวิตเราสมดุลหรือไม่
  •        เมื่อภรรยาพาลูกกลับมา บอกกับภรรยาว่าจะเลิกทำงานแบบเดิม เป็นการเริ่มต้นของการเปลี่นแปลงอีกครั้งหนึ่ง
 แตะเบรคชีวิต
  •        เริ่มจากค่อย ๆ ส่งมอบงานให้เพื่อน แล้วขอภรรยาไปบวช ซึ่งภรรยาเคยบอกไว้ว่า ถ้าบวชก็จะอนุโมทนาด้วย
  •        ด้วยบวชหลังจากที่ได้ผ่านชีวิตมาระยะหนึ่งแล้ว ผ่านความสุข ความทุกข์มามาก การบวชเหมือนได้พัก ได้ผ่อนลมหายใจยาว ๆ
  •        บวชที่วัดถ้ำพระธาตุเมืองเทพ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติ อยู่กลางป่าเขา ห่างไกลชุมชน ได้เรียนรู้เต็มที่ และปฏิบัติตนตามที่ตั้งใจไว้ ถือศีลอย่างเคร่งครัด
  •        การบวชทำให้ได้รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่จำเป็นจริง ๆ สำหรับชีวิต เราจะปรับสมดุลของการมีปัจจัยเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมได้อย่างไร ได้รู้ว่าความสุขหาได้จากความสงบ
  •        การบวชทำให้รู้ว่าที่จริงแล้วเราจะเป็น ‘พระ’ ตอนไหนก็ได้ ถือศีลภาวนาตอนไหนก็ได้ เราสามารถทำได้ในชีวิตของฆราวาส โดยมีครูอาจารย์ มีกัลยาณมิตร และสิ่งแวดล้อมที่ดี

วิถีชีวิตหลังการบวช

  •        เริ่มติดใจชีวิตแบบสมถะ หลังสึกไม่ได้ทำงานหาเงิน แต่ไปทำงานจิตอาสา เหมือนเป็นช่วง gap year (เว้นว่าง) ขณะนั้นเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมปี ๒๕๕๔ พอดี ได้ไปช่วยศูนย์อพยพ ใช้วิชาวิศวกรรมที่เรียนมาออกแบบเครื่องมือ ไม้เท้าเตือนไฟรั่ว เตรียมคนกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
  •        เมื่อถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนเพื่อการดำรงชีพต่อ จึงเลือกงานที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ในขณะเดียวกันต้องเป็นงานที่มีประโยชน์ ช่วยสังคมได้ด้วย และหากเป็นงานทางพุทธศาสนาจะสนใจมากยิ่งขึ้น จนได้มาพบสวนโมกข์กรุงเทพ
มาเป็นเด็กสวนโมกข์
  •        เริ่มงานที่สวนโมกข์กรุงเทพในด้านสื่อมัลติมีเดีย สื่อเป็นสิ่งมีพลัง บันทึกสิ่งที่ทำแล้วนำมาขยายผลได้ มี impact ต่อสังคม ต่อมาขยับไปทำงานด้านโครงการ และกิจกรรม
  •        ชอบทุกหน้าที่ที่ได้ทำ ได้รับโอกาสให้ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีอิสระ กิจกรรมที่ประทับใจเป็นพิเศษ คือ
  •        ไปเยี่ยมสวนโมกข์ ไชยาครั้งแรกในวันล้ออายุท่านพุทธทาส ประทับใจสวนโมกข์ ไชยาในความเป็นธรรมชาติ ฟังธรรมที่ลานหินโค้ง
  •        การไปสวนโมกข์ ไชยาเหมือนกลับไปเห็นความเป็นท่านพุทธทาส เห็นสิ่งที่ท่านทำเอาไว้ ลานหินโค้ง คลังหนังสือ รวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ เช่น โรงมหรสพทางวิญญาณ สระมะพร้าวนาฬิเกร์ พระอวโลกิเตศวร เขาพุทธทอง ที่ท่านพุทธทาสได้ใส่ธรรมะไว้
  •        การได้ทำงานที่สวนโมกข์กรุงเทพเป็นงานที่ดีที่สุดในชีวิตการทำงาน ได้เรียนรู้ธรรรมะแบบองค์รวม ทั้งจากที่อยู่ในเนื้องาน และการได้พบครูอาจารย์ ทั้งยังได้เป็นผู้สร้างกระบวนการ ประสาน ให้ผู้คนเข้ามาเรียนรู้ มาร่วมกิจกรรม ทำงานเหมือนได้ทำบุญทุกวัน และที่สำคัญ สวนโมกข์ยังได้ให้รายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตด้วย

จากชาวสวนไปเป็นชาวไร่

  •        มาถึงช่วงเปลี่ยนของชีวิต ได้ที่ดินที่เรามีอยู่ เดิมมีความตั้งใจและวางแผนไว้ว่าสักวันจะกลับบ้าน กลับมาเรียนรู้ชีวิตภายใน ซึ่งที่ผ่านมาได้เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ต่าง ๆ ไว้เพื่อจะได้มาทำตามเป้าหมาย
  •        ประกอบกับเป็นช่วงเชื้อโควิดระบาด งานกิจกรรมที่ทำอยู่นั้นแผ่วลง ปิดโครงการทั้งหลายได้ เป็นจังหวะให้เราได้ตัดสินใจครั้งที่สำคัญ เพราะมีครอบครัวที่ต้องมาร่วมเดินทางไปด้วยกัน ได้ปรึกษากับภรรยา และอีกหลายคน รวมถึงแม่ชีที่พูดว่า ‘ต้นไม้โตเต็มกระถาง ก็อยากจะลงดิน’  เป็นคำอธิบายที่ใกล้เคียงกับความรู้สึกของตัวเองมาก จนในที่สุด ตัดสินใจมาทำ ‘สุขสะนำ’ ที่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
  •        อาจเป็นความฝันของคนเมืองหลายคนที่อยากมีที่กว้าง ๆ สูดลมหายใจได้เต็มปอด ตัวเองก็เช่นกัน การเปลี่ยนชีวิตแบบหักศอกเช่นนี้เป็นเรื่องไม่ง่าย การเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญ สร้างบ้านด้วยตัวเอง ผสมปูนกระสอบแรกเป็นเรื่องที่หนักมากสำหรับเรา ขุดดินจนมือพองมือแตก ร่างกายปวดเมื่อยอ่อนล้า เป็นเช่นนี้อยู่สามเดือนเต็ม จนร่างกายปรับตัว สามารถดำเนินต่อได้
  •        ต้องพิจารณาในเรื่องของกำลัง อายุ และวัย การเดินทางต้องเตรียมเสบียงทั้งทางร่างกายและจิตใจ กัลยาณมิตรก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะคอยเกื้อกูลกำลังให้ก้าวเดินต่อ
  •        ‘สุขสะนำ’ คำว่า สะนำ เป็นชื่อหมู่บ้านแรกเริ่มใช้คำว่า ‘สุดสะนำ’ เพราะเป็นที่ดินผืนสุดท้ายของหมู่บ้าน ต่อมาเปลี่ยนเป็น ‘สุขสะนำ’ จากที่ได้ทบทวนเรื่องชีวิต ความสุขมีได้ในหลายมิติ มาเพื่อเรียนรู้ด้านใน ‘เรียนรู้ สู่ว่าง’
  •        นอกจากนี้ ที่เลือกที่นี่เพราะได้อ่านหนังสือของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ‘ทำบุญพื้นฐาน คือทำบ้านให้เป็นรมณีย์’ แล้วประทับใจ เป็นเหมือนแผนที่ชีวิต ท่านบอกว่า “… พื้นที่ที่เป็นรมณีย์ควรมีร่มไม้ สายน้ำ สะอาดสะอ้าน ไร้ขยะรกรุงรัง คมนาคมดี มีแต่คนเป็นมิตร …” ซึ่งหมู่บ้านสะนำมีทุกสิ่งตามนี้ ยกเว้นน้ำ จึงได้ทำการขุดบ่อบาดาล และที่นี่ยังเป็นชุมชนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของชุมชนลาวครั่ง เป็นชุมชนที่อบอุ่น เหมาะแก่การใช้ชีวิตอยู่แบบระยะยาว
  •        วางแผนทำเรื่องปัจจัยสี่ก่อน เริ่มจากที่อยู่อาศัย จากนั้นจะขยับไปสู่เรื่องการอยู่การกิน โดยพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด
  •        (สุขสะนำจะขับเคลื่อนอยูในอุทัยธานีอย่างไร) ที่ผ่านมาการทำกิจกรรมเป็นการทำผ่านกระบวนการคิดอย่างเดียว ตอนนี้จึงอยากมาถึงการลงมือทำ ทดลองให้เห็นจริง ๆ ถึงวิถีการพึ่งพาตัวเองด้วยปัจจัยสี่ ช่วงสามปีแรกเป็นช่วงที่อยากเก็บตัว ทดลอง อยากพูดจากสิ่งที่เราได้เห็น ผ่านการทำแล้วจริง ๆ
  •        ขณะนี้อายุ ๔๕ ปี เป็นช่วงที่พอดีสำหรับตัวเองในการมาทำ ‘สุขสะนำ’ กลับมาศึกษาชีวิตตัวเองว่าจะสามารถทำจากมือกับทรัพยากรที่มีอยู่ได้ไหม จะพอเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวได้จริงหรือไม่
  •        ในส่วนของเพื่อนบ้านรายรอบนั้น ที่บ้านไร่เริ่มมีหลายคนหันมาทำเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และมีสำนักปฏิบัติธรรมหลายสายมาก ด้วยพื้นที่เอื้อกับการปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ยังมีธรรมชาติที่สวยงาม มีทั้งภูเขาและน้ำตก ผลไม้หลากหลาย มีผ้าทอเป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  •        ปัจจุบัน ผู้คนเริ่มออกไปหาพื้นที่อยู่กับธรรมชาติมากขึ้น ด้วยอ.บ้านไร่เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง เป็นเครือญาติกัน มีกระบวนการคัดสรรคนที่เข้ามาอยู่ จะมีคนเข้ามาดูว่ามาทำอะไร อยู่อย่างไร หากมาอย่างสงบเกื้อกูลกัน จะได้รับการส่งต่อบอกกล่าว เป็นการคัดกรองคนที่เข้ามาในชุมชน
  •        การมาอยู่ที่สุขสะนำนั้น คิดอยู่ในใจเสมอเรื่อง ‘ธรรมะคือธรรมชาติ’ ตามที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ การที่ได้มาอยู่ที่นี่ทำให้รู้ว่า ‘ธรรมชาติคือความเป็นจริงที่สุด’ หากได้อยู่กับธรรมชาติที่เรียบง่าย เป็นรมณีย์ ก็จะส่งผลกับการใช้ชีวิตของเรา ได้มองเห็นความเป็นจริงที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ต่างจากการอยู่กรุงเทพฯที่มีเครื่องป้องกันมากมาย
  •        ได้เรียนรู้ธรรมชาติที่อยู่ภายใน เมื่อเจอสิ่งกระทบภายนอกแล้วเป็นอย่างไร อยู่ในเส้นทางการเรียนรู้ต่อไป เรียนรู้ทั้งสุขและทุกข์ ที่ ‘สุขสะนำ’ สวนธรรมที่อยู่ในใจเรา
แนวทางสื่อสารกับคนรุ่นใหม่
  •        (ในฐานะที่เป็นคนทำงานสื่อ และเป็นพ่อสอนลูก แนะนำว่าจะสื่อสารธรรมะกับคนรุ่นใหม่อย่างไร) ส่วนตัวเห็นว่าการส่งต่อธรรมะให้กับคนอื่นนั้น ควรทบทวนก่อนว่าผู้รับพร้อมที่จะรับหรือเปล่า เป็นเรื่องของช่วงวัย และยุคสมัยด้วย
  •        อย่างเช่นตัวเอง จากที่เคยเหมือนอยู่คนละฝั่งกับลูก ลองเปลี่ยนมาอยู่ฝั่งเดียวกับเขา วันหนึ่งเดินไปบอกลูกว่า “พ่อจะมาอยู่ฝั่งเดียวกับลูกแล้วนะ” ให้ลูกเป็นคนนำ บอกว่าอยากเรียนรู้อะไร แล้วเราคอยสนับสนุน ทุกการกระทำ เราสามารถเรียนรู้ได้ ค่อย ๆ ปรับ จนลูกค่อย ๆ เปิดใจ รับฟังเรา ปรึกษากันได้ทุกเรื่อง
  •        การสื่อสาร ทำงานกับคนรุ่นใหม่ ลองย้ายไปอยู่ฝั่งเดียวกับเขา ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน จะมีความสุขกันทั้งสองฝ่าย

277922712 1018411482404021 1362123725606195477 n

 

 

278523583 704201104061122 3594718643095491442 n

278484858 397759165266045 6983571992148516981 n

278072501 2838882436419660 917938687178014393 n

๑)     ดูหนังหาแก่นธรรม – ได้ทำกระบวนการเรียนรู้ ดูหนังจบแล้วตั้งวงคุยแลกเปลี่ยนกัน สร้างความเข้าใจธรรมะในมิติต่าง ๆ

๒)     ปฏิบัติภาวนาแนวใหม่ – ในรูปแบบประยุกต์ให้เหมาะกับวิถีคนเมือง คนรุ่นใหม่ หรือนักปฏิบัติมือใหม่

๓)     ปฏิบัติตามแนวทางครูอาจารย์ต่าง ๆ – สำหรับคนที่อยากฝึกฝน เช่น อานาปานสติ แนวหมู่บ้านพลัม แนวหลวงพ่อเทียน เป็นต้น

๔)     ตักบาตรเดือนเกิด – เป็นกิจกรรมที่มีครบทุกด้าน ฟังธรรม ปฏิบัติ สวดมนต์ ร่วมได้ทุกเพศทุกวัย

279020347 931969507485401 2408452349947729973 n

278334529 700563078029251 4923164722627824828 n

278718497 575711253603925 8650490813464652004 n

277900173 429761225623960 7813004051633978056 n

สุขสะนำ – สวนธรรมในใจ

278249996 2759251891051137 580962339341258655 n

หมายเหตุ:

-        สืบ นาคะเสถียร กระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ อย่างจริงจัง